ต้อนรับลูกค้าอย่างไร ไม่ให้ถูกคอมเพลน

การต้อนรับลูกค้าสำหรับร้านอาหาร ถือเป็นด่านแรกที่สำคัญที่สุด ที่อาจนำไปสู่ทิศทางของการสร้างความประทับใจหรือสร้างความหงุดหงิดใจให้กับลูกค้าก็ได้ ซึ่งถ้าลูกค้ารู้สึกดีกับการต้อนรับ แน่นอนว่าก็จะส่งผลดีต่อร้านอย่างมหาศาล แต่ถ้ากลับกันการต้อนรับลูกค้าทำได้ไม่ดีแล้ว ก็อาจนำไปสู่การถูกคอมเพลน ตำหนิ และกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ในภายหลัง ทั้งนี้หลักในการต้อนรับลูกค้าสำหรับร้านอาหารไม่ให้ถูกคอมเพลนและสร้างความประทับใจให้ลูกค้าได้นั้น มีรายละเอียดง่ายๆ ดังต่อไปนี้ ซึ่งสามารถสรุปไปใช้เป็น คู่มือแก้ปัญหาเมื่อถูกลูกค้า Complain ให้พนักงานในร้านได้

1. ตั้งแต่หน้าร้านต้องจริงใจ สุภาพสดใส ยิ้มแย้มเสมอ

การต้อนรับลูกค้านั้น มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่หน้าร้าน โดยถ้าจะให้ดีที่สุด ร้านอาหารทุกร้านควรมีพนักงานคอยต้อนรับตั้งแต่หน้าประตู ซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับก็คือ ทำให้ลูกค้ารู้สึกดีที่มีพนักงานมาต้อนรับตั้งแต่แรก รู้สึกเป็นคนสำคัญที่มีคนมาทักทายและคอยดูแลเอาใจใส่ ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถช่วยเชียร์เชิญลูกค้าที่ผ่านไปผ่านมาเข้าร้านได้ด้วย โดยสามารถแนะนำเมนู ตอบคำถามสำหรับลูกค้าใหม่ที่สนใจให้ตัดสินใจง่ายขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือ พนักงานต้อนรับหน้าร้านนั้น มีความสำคัญทั้งในแง่ของการดูแลลูกค้าเก่าและการสร้างฐานลูกค้าใหม่ไปพร้อมๆ กัน

การต้อนรับหน้าร้านที่ควรปฏิบัติ : พนักงานต้อนรับหน้าร้านควรยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอ และอยู่ประจำหน้าร้านตลอดเวลา กล่าวเชิญทักทายลูกค้าด้วยความร่าเริง เสียงดังฟังชัด ด้วยประโยคพื้นฐานง่ายๆ ว่า “ร้าน 123 สวัสดีค่ะ/ครับ แวะดูเมนูก่อนได้นะครับ/ค่ะ”

2. ข้อมูลอาหารต้องแน่น ถามอะไรต้องแม่นตอบได้

เมื่อการเชื้อเชิญลูกค้าหน้าร้านเกิดขึ้น แน่นอนว่าถ้าหากลูกค้าสนใจ ย่อมมีคำถามตามมาอย่างแน่นอน ดังนั้น สำหรับพนักงานต้อนรับแล้ว ก็จำเป็นจะต้องแม่นยำในเรื่องของข้อมูลให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเมนูอาหาร ราคาอาหาร เวลาเปิดปิดร้าน จำนวนคิวในการจอง ฯลฯ ต้องมีการเตรียมตัวเพื่อให้สามารถตอบคำถามลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องมากที่สุด เพื่อสร้างความไว้วางใจให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ

เทคนิคการตอบคำถาม : หากได้รับคำถามที่ไม่สามารถตอบได้ ไม่ควรตอบไปแบบมั่วๆ โดยไม่รู้ เพราะถ้าลูกค้าเข้าใจผิด จะถูกคอมเพลนได้ ทั้งนี้ เราสามารถกล่าวขอโทษยอมรับกับลูกค้าได้โดยตรงว่าขออภัยค่ะ และตามผู้รู้มาให้คำตอบจะเป็นการดีกว่า หรือในกรณีที่ได้รับคำถามเช่นว่า มีเมนูนี้ไหม? แล้วร้านเราไม่มี แทนที่จะตอบเพียงว่า ไม่มีค่ะ ก็ควรแนะนำเมนูอื่นที่ใกล้เคียงกันเพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าด้วย เพื่อให้เรายังคงสามารถที่จะมีโอกาสในการขายได้อยู่ ไม่ใช่เพียงแค่ตอบว่าไม่ และปิดโอกาสการขายตัวเอง

3. เช็คจำนวนลูกค้าให้ดี เพื่อพาไปยังที่นั่งที่เหมาะสม

ในการต้อนรับหน้าร้านบ่อยครั้ง ลูกค้าที่เข้ามาสอบถามบริการนั้น ไม่ได้เป็นจำนวนที่แท้จริงทั้งหมด อาจเข้ามาถามเพียงแค่ 1-2 ท่าน ส่วนที่เหลืออาจเข้าห้องน้ำอยู่ หรือจะตามมาทีหลัง ดังนั้น พนักงานจึงจำเป็นต้องสอบถามให้แน่ใจทุกครั้งเมื่อลูกค้าตัดสินใจใช้บริการแล้วว่า “ลูกค้ามาทั้งหมดกี่ท่านคะ/ครับ?” เพื่อให้สามารถจัดที่ที่เหมาะสมกับจำนวนลูกค้าได้ ให้ลูกค้าได้นั่งอย่างสบาย ไม่เบียด ไม่แออัดเกินไป โดยถ้าหากเราจัดที่ให้ลูกค้าไม่เหมาะสม ก็อาจถูกคอมเพลนได้

เทคนิคในการเลือกที่นั่งให้ลูกค้า : ไม่ใช่เพียงแค่จำนวนลูกค้าอย่างเดียวที่เราจะเลือกที่ที่เหมาะสมได้ แต่เราสามารถใส่ใจลงไปให้ลึกในรายละเอียดได้อีกว่า มีเด็กไหม? มีผู้สูงอายุไหม? เป็นผู้หญิงหรือผู้ชายมากกว่ากัน เพื่อเลือกที่ที่เหมาะสมกับลูกค้าให้ได้มากขึ้น เช่น หากมีเด็กก็จะได้จัดเตรียมเก้าอี้สำหรับเด็ก มีผู้สูงอายุก็เลือกที่ที่อาจมีเบาะพนักพิงนั่งนิ่มสบาย แทนโต๊ะเก้าอี้ปกติ หรือเลือกเป็นโต๊ะริมที่เป็นส่วนตัว ไม่พลุกพล่าน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกดีที่เราใส่ใจดูแล

4. ลูกค้าเข้ามาในร้านแล้ว ก็ต้องกล่าวทักทายเสมอ

การต้อนรับหน้าร้านทำดีอย่างไร การต้อนรับในร้านก็ต้องทำให้ดียิ่งกว่าหรือเทียบเท่า ทันที่ลูกค้าเดินเข้าสู่ร้านแล้ว พนักงานในร้านก็ควรกล่าวคำต้อนรับด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส และสุภาพเช่นกัน โดยอาจกล่าวคำง่ายๆ ที่เป็นมาตรฐานว่า “ร้าน 123 สวัสดีค่ะ/ครับ เชิญครับ/ค่ะ” เป็นต้น ซึ่งด้วยบรรยากาศของการกล่าวทักทายที่ยิ้มแย้มนั้น จะทำให้ลูกค้ารู้สึกอบอุ่น สบายใจ และประทับใจกับการมารับประทานอาหารมากขึ้น

เทคนิคการต้อนรับในร้าน : ในการต้อนรับในร้าน นอกจากจะสำคัญในเรื่องของการทักทายแล้ว การพาลูกค้าไปยังโต๊ะ ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจด้วย พนักงานไม่ควรแค่บอกว่า เชิญโต๊ะนั้น โต๊ะนี้ได้เลยค่ะ แล้วจบ ในหลายกรณีร้านใหญ่มีหลายโต๊ะ พนักงานควรบริการเดินนำทางลูกค้าไปส่งที่โต๊ะด้วย อยู่กับลูกค้าจนนั่งเรียบร้อย และนำเมนูมาเสิร์ฟ คอยรับออร์เดอร์จากลูกค้าทันที เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่า เราดูแลใกล้ชิดเต็มที่

5. ระบบจองคิวต้องดี เพื่อลูกค้าดีกรีแฟนพันธุ์แท้

สำหรับร้านอาหารที่มีลูกค้าแน่นร้านเสมอ การมีพนักงานต้อนรับหน้าร้าน และมีบริการให้จองคิวนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราไม่เสียโอกาสในการขาย และยังสามารถทำให้ลูกค้าประทับใจได้อีกด้วย ถ้าการบริการจองคิวนั้นเป็นไปอย่างมีระบบเรียบร้อย แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าหากเราไม่สามารถบริการลูกค้าที่จองคิวได้อย่างดีล่ะก็ อาจกลายเป็นดาบสองคมที่ทำลายร้านเราได้เช่นกันด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสร้างระบบและอบรมพนักงานให้ดีในเรื่องของการจองคิว

เทคนิคการจัดคิวลูกค้าหน้าร้าน : ร้านค้าควรมีเก้าอี้นั่งสำหรับลูกค้าที่รอต่อคิว และควรมีพนักงานคอยให้บริการจัดลำดับคิวอย่างถูกต้อง ควรระวังไม่ให้เกิดการข้ามคิวเด็ดขาด ทั้งนี้ เราสามารถดูแลลูกค้ารอคิวให้ดียิ่งขึ้นได้ด้วยการ ให้ลูกค้าดูเมนูก่อน จดออเดอร์ก่อน เพื่อให้เมื่อได้คิวแล้วจะได้ไม่ต้องรออาหารนานอีก หรือถ้าเป็นไปได้ เรายังสามารถหาขอว่างง่ายๆ มาบริการลูกค้าที่รอคิวอยู่ได้ด้วย ซึ่งจะช่วยทำให้ลูกค้าสบายใจ ประทับใจ และเต็มใจที่จะรอ พร้อมทั้งอยากจะกลับมาใช้บริการอีกอย่างแน่นอนในครั้งต่อไป

การต้อนรับลูกค้าทั้งหน้าร้าน และในร้าน คือ การสร้างความประทับใจแรก ที่ร้านอาหารจะสามารถทำให้เกิดขึ้นในใจลูกค้าได้ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่ร้านอาหารจำเป็นต้องอบรมและสร้างระบบให้พนักงานทุกคนสามารถทำให้ได้อย่างดีที่สุด เพราะหากเราสร้างความประทับใจแรกให้กับลูกค้าได้แล้ว โอกาสในการถูกคอมเพลน ถูกตำหนิจากลูกค้าก็จะลดน้อยลงไปมากเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการต้อนรับที่ดีแล้ว อย่างไรเสียทุกร้านอาหารก็จำเป็นจะต้องมีแนวทางการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า มีคู่มือแก้ปัญหาเมื่อถูกลูกค้า Complainเอาไว้สำหรับให้พนักงานได้ศึกษา เพื่อให้เมื่อเกิดปัญหาการคอมเพลนขึ้นมาจะได้แก้ไขได้อย่างดี และผ่านไปได้อย่างราบรื่น ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะผลักดันให้ร้านอาหารประสบความสำเร็จก้าวไปได้ไกลอย่างมั่นคงมากขึ้น

 

9eak
9eak
ทดสอบครับ

Related Articles

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

Stay Connected

0แฟนคลับชอบ
0ผู้ติดตามติดตาม
- Advertisement -spot_img

Latest Articles