ร้าน GINZA JUKKOKU เป็นร้านข้าวปั้นเล็ก ๆ อยู่ที่เมืองกินซ่า ก่อตั้งเมื่อ 1999 โดยนายทุนผู้ผลิตข้าวจากเมืองนิกาตะที่มีความต้องการให้คนในเมืองหลวงของญี่ปุ่นได้รู้จักข้าวจากเมืองนิกาตะจึงลงทุนเปิดร้านข้าวปั้นเล็ก ๆ ในกินซ่าโดยใช้ข้าวจากนิกาตะ
ร้านนี้มีผู้จัดการร้านชื่อ Mr.Habuki Masayuki ในช่วงแรก ๆ Mr.Habuki ทำแบบเดียวกับร้านข้าวปั้นทั่วไปทำ คือขายข้าวปั้นหน้าต่าง ๆ เช่น แซลมอน ทูน่า โดยใช้ข้าวจากนิกาตะ แต่ปรากฏว่าผลประกอบการไม่เป็นไปอย่างที่คิด เพราะย่านที่ร้านตั้งอยู่จัดเป็นทำเลไฮโซ มีแต่ร้านหรู ๆ จึงไม่มีใครสนใจร้านข้าวปั้นเล็ก ๆ
ทำให้ Mr.Habuki ต้องหาวิธีทำยอดขาย โดยสิ่งแรกที่เขาทำคือ “โปรโมชั่น ลดแหลก แจก แถม” เช่น หลัง 5 โมงเย็นข้าวปั้นทุกหน้าลด 30% เท่านั้นยังไม่พอ เขายังขยายเวลาปิดร้านออกไปจาก 2 ทุ่มเป็น 4 ทุ่ม มีบริการเดลิเวอรี่ไปส่งถึงที่ Mr.Habuki ทำงานหนัก อดหลับ อดนอนคิดกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อให้ได้ยอดขาย แต่ผลที่ได้คือ ยอดขายยังคงไม่ดีขึ้น
แล้วก็เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ความคิด Mr.Habuki เปลี่ยนไปตลอดกาล รวมถึงยอดขายของ GINZA JUKKOKU ก็เปลี่ยนไปด้วย เมื่อวันหนึ่งมีสหกรณ์จากเมืองนิกาตะส่งมิโซะมาให้ทางร้านทดลองใช้ Mr.Habuki ก็นำมิโซะตัวนี้มาทำเป็นไส้ข้าวปั้น ปรากฏว่าลูกค้าชอบมาก ทุกคนบอกว่าอร่อย ไม่เคยทานรสชาติแบบนี้มาก่อน Mr.Habuki จึงเกิดไอเดียคิดเป็นสตอรี่ขึ้นมาว่า ข้าวปั้นไส้มิโซะนี้ เป็นมิโซะฝีมือคุณยายจากจังหวัดนิกาตะเป็นคนทำ ก็ยิ่งได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะคนญี่ปุ่นรู้ดีว่าข้าวจากนิกาตะเป็นข้าวที่อร่อย ยิ่งมาเจอมิโซะของคุณยายจากนิกาตะก็ยิ่งทำให้ความอร่อยเพิ่มมากขึ้น เกิดการบอกต่อ ๆ กันไป ทำให้ยอดขายข้าวปั้นมิโซะเพิ่มขึ้น ๆ
จากจุดนี้เองทำให้ Mr.Habuki เกิดมุมมองใหม่จากเดิมที่คิดว่าตนเองคือคนขายข้าวปั้น ต้องทำยังงัยก็ได้ให้ข้าวปั้นขายดี เปลี่ยนเป็นความคิดว่า เขาไม่ใช่แค่ร้าน หรือ คนขายข้าวปั้นเท่านั้น แต่การที่เขาขายข้าวปั้นได้จะมีส่วนช่วยให้คนในท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มตามไปด้วย จากความคิดนี้เองทำให้ Mr.Habuki เปลี่ยนแผนและเป้าหมายของร้าน GINZA JUKKOKU จากที่เน้นทำยอดขายมาก ๆ ให้เป็นร้านข้าวปั้นที่จะส่งต่อความตั้งใจของผู้ผลิตวัตถุดิบดี ๆ ในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วญี่ปุ่นให้กับผู้บริโภค ร้าน GINZA JUKKOKU ไม่ได้ขายข้าวปั่นอีกต่อไป แต่ขายความตั้งใจดี ๆ ของผู้ผลิตวัตถุดิบจากท้องถิ่น เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น
จากความคิดที่เปลี่ยนไปนี้ ทำให้ Mr.Habuki รู้สึกถึงคุณค่าในสิ่งที่เขากำลังทำ เกิดเป็นความสนุกตื่นเต้นที่จะได้เดินทางไปทั่วประเทศเพื่อเฟ้นหาวัตถุดิบดี ๆ ระดับท็อป ๆ ในท้องถิ่นต่าง ๆ เพื่อนำมาทำเป็นไส้ข้าวปั้นแล้วบอกเรื่องราวความพิเศษของวัตถุดิบนั้น ๆ ให้ผู้บริโภคได้รับรู้ เช่น ทูน่าที่อร่อยที่สุดแห่งเมืองชิซุโอกะ ซึ่งคนชิซุโอกะต้องใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงในการเดินทางเพื่อจะได้ทูน่านี้มา หรือ ปลาชิริเม็ง ที่ร้านอาหารหรู ๆ ในเมืองคาซาว่าใช้ ได้ถูกนำมาทำเป็นไส้ข้าวปั้นที่ร้าน GINZA JUKKOKU
ผลลัพธ์คือ ลูกค้าเกิดความประทับใจ รู้สึกถึงคุณค่าในข้าวปั้นทุกชิ้น และเกิดความภูมิใจที่มีส่วนร่วมในการส่งเสริมอาชีพของคนในชุมชนต่าง ๆ นอกจากนี้ Mr.Habuki ยังออกแบบแพคเกจจิ้งที่ดูเรียบแต่หรูเพื่อให้ข้าวปั้นร้าน GINZA JUKKOKUกลายเป็นของฝากที่คนอยากชื่อให้กัน ทำให้ข้าวปั้นของ GINZA JUKKOKU ยอดขายดีมาก
จากเดิมที่เคยคิดว่า เมื่อยอดขายไม่ดี ต้องหาวิธีปั่นยอดขายให้เพิ่มด้วยกลยุทธ์การตลาดต่าง ๆ เช่น ลดราคา เพิ่มเวลาขายให้นานขึ้น แต่สุดท้ายยิ่งทำยอดขายก็ยิ่งตก นั่นเป็นเพราะความคิดนี้มุ่งหวังแต่เฉพาะยอดขาย โดยลืมความรู้สึกถึงคุณค่าที่ลูกค้าจะได้รับ เมื่อเปลี่ยนความคิดจากผู้จะเอา เป็นผู้ให้ คือ ให้สิ่งดี ๆ กับท้องถิ่น ให้สิ่งดี ๆ กับผู้บริโภค พลังแห่งการให้ส่งผลให้ลูกค้ารับรู้ถึงคุณค่าที่ได้รับ และยินดีจ่ายเพิ่มให้กับคุณค่านั้น เป็นพลังของการให้ที่ต้องบอกว่า ยิ่งให้ยิ่งได้จริง ๆ
เรื่องราวของร้าน GINZA JUKKOKU และ Mr.Habuki Masayuki เป็นหนึ่งแนวทางดี ๆ ที่เพื่อน ๆ สามารถนำไปต่อยอดได้ ไม่ใช่แค่ในมุมของการเฟ้นหาวัตถุดิบดี ๆ จากท้องถิ่นเท่านั้น แต่หลักความคิดของการ “ให้” หากเพื่อน ๆ ตีโจทย์ที่เหมาะกับร้านของตัวเองได้ ลูกค้าก็พร้อมให้สิ่งดี ๆ กลับคืนมาเช่นกัน
ขอขอบคุณสถานีวิทยุจุฬาฯ CU RADIO ที่นำเรื่องราวดี ๆ ของร้าน GINZA JUKKOKU มาแบ่งปัน
ภาพประกอบ
https://ginzadelunch.jp/en/?p=50428
http://www.awatsujidesign.com/works/graphic/ginza-jukkoku.html