อยากพูดถึงประเด็นนี้ เพราะนอกจากจะไม่ค่อยได้หยิบมากล่าวถึงบ่อยนักแล้ว จากประสบการณ์ที่ได้มีโอกาสให้คำปรึกษาเพื่อนๆ ผู้ประกอบการร้านอาหารในด้านการทำตลาดออนไลน์ด้วยเฟซบุ๊กแฟนเพจแล้วพบว่า ยังมีเพื่อนๆ ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยเสียโอกาสจากการปล่อยให้เฟซบุ๊กแฟนเพจไม่ทำงานเนื่องจากยังมองข้ามองค์ประกอบสำคัญๆ ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการใช้เฟซบุ๊กทำการตลาดออนไลน์ จนถึงวันนี้ต้องบอกว่า เฟซบุ๊กยังเป็นโซเชียลที่มีอิทธิพลในการสร้างการรับรู้ต่อผู้คนจำนวนมหาศาล ดังนั้นการปล่อยให้เฟซบุ๊กแฟนเพจร้านไม่ทำงานก็ไม่ต่างอะไรกับการที่หน้าร้านไม่ดึงดูดไม่ชวนให้อยากแวะเข้าไป เลยอยากชวนเพื่อนๆ ลองนำ 5 แนวทางนี้ไปปรับใช้กับแฟนเพจร้านเพื่อนๆ ที่มีการตอบรับน้อย ยอดการติดตามน้อย ยอดไลน์น้อย ยอดแชร์น้อย คอมเม้นน้อย เผื่อจะช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้น
แนวทางที่ 1 ปรับทัศนคติของตัวเอง
จนถึงวันนี้ยังมีเพื่อนผู้ประกอบการร้านอาหารจำนวนหนึ่งไม่มีเฟซบุ๊กแฟนเพจร้าน จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ อยากบอกว่าต้องมี ถ้าการไม่มีเพราะไม่รู้จะสร้างอย่างไร ค้นหาวิธีการในGoogleจะพบข้อมูลมากมายบอกวิธีการสร้างแฟนเพจซึ่งการสร้างนั้นไม่ยากเลย ย้ำว่าจำเป็นต้องมี เพราะเดี๋ยวนี้มีการค้นหาร้านอาหารผ่านเฟซบุ๊คมากขึ้นเรื่อยๆ การมีแฟนเพจว่าสำคัญแล้วแต่ทัศนคติในการมีแฟนเพจสำคัญกว่า สรุปตรงๆ ก็คือ มีแฟนเพจเพื่ออะไร ไม่น้อยเลยที่ “มีแค่มี” แล้วก็ปล่อยให้แฟนเพจเหี่ยวๆ แห้งๆ ทิ้งขว้างไม่สนใจ โปรดอย่าลืมว่า ชื่อแฟนเพจที่ตั้งส่วนใหญ่ก็คือชื่อร้าน ดังนั่นการที่มีคนค้นหาร้านแล้วมาเจอกับหน้าแฟนเพจที่ไม่มีอะไรดึงดูด ความอยากจะรู้จักร้านก็หายไป
มีร้านอาหารจำนวนมากที่ใช้ประโยชน์จากแฟนเพจได้อย่างคุ้มค่า มีการสั่งออเดอร์ จองโต๊ะ สอบถามผ่านทางแฟนเพจ ฉะนั้นทัศนคติมุมมองต่อการมีแฟนเพจสำคัญ เพราะมันจะส่งผลต่อแนวทางการวางแผนใช้งานแฟนเพจให้เกิดประโยชน์ตามมา โปรดอย่าลืมว่า “แฟนเพจก็คือหน้าร้านของเรา”
แนวทางที่ 2 ปรับข้อมูลหลังบ้านให้สมบูรณ์
อันนี้เจอค่อนข้างบ่อย เฟซบุ๊กจะมีให้ตั้งค่าต่างๆ ของแฟนเพจ เช่น เบอร์โทร อีเมล์ เว็บไซต์ เวลาเปิด-ปิดร้าน ที่มาของร้าน ร้านเราขายอะไร ตำแหน่งที่ตั้งร้าน มีที่จอดรถหรือไม่ ฯลฯ เข้าไปใส่ข้อมูลให้ครบ มีอะไรมาให้ใส่ๆ ไปให้เต็มที่ เพราะข้อมูลเหล่านี้มีผลต่อการค้นหา การรับรู้ของชาวชุมชนเฟซบุ๊ก เข้าไปตั้งค่าได้ผ่านการใช้งานบนเวอร์ชั่นเดสก์ท็อป
แนวทางที่ 3 ปรับ Content ให้มี Story
ส่วนตัวผมจะแบ่งแฟนเพจเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหลังบ้าน, ส่วนหน้าบ้าน และ ส่วนการยิงแอด ทั้ง 3 ส่วนสำคัญและมีความเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะส่วนหน้าบ้านถือว่าสำคัญมาก ส่วนหน้าบ้านก็คือ หน้าแฟนเพจที่เราเลื่อนขึ้น-ลงเพื่อดูเนื้อหาต่างๆ ส่วนนี้แหละที่จะทำให้คนสนใจหรือผ่านเลย Content หรือเนื้อหาคือหัวใจหลักของส่วนนี้ เริ่มตั้งแต่ Cover Page ซึ่งหลายเฟจยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จาก Cover Page พื้นที่ Cover Page ก็คือพื้นที่โฆษณาอย่างดี ต้องจัดรูป ข้อความที่เห็นแล้วอยาก ไม่ว่าจะอยากกิน อยากไปนั่ง ไปลอง เดี๋ยวนี้ Cover Page สามารถใส่คลิปได้ด้วยยิ่งเป็นตัวช่วยกระตุ้นความสนใจ หากว่าเจ้าของเพจใส่ใจพื้นที่ตรงนี้สักหน่อย
เนื้อหาที่ลง อันนี้เป็นจุดสลบของหลายๆ เพจที่เจอ บางเพจรูปสวย น่ากิน แต่ แคปชั่นมันไม่โดนใจ แค่ลงรูปแล้วพิมพ์ว่า “หิวมั้ย ถ้าหิวให้รีบมา” อะไรทำนองนี้ มันไม่ยั่วให้อยาก อธิบาย บรรยายสรรพคุณสักหน่อยว่า เมนูนั้นคืออะไร มันน่าสนใจเพราะอะไร ไม่จำเป็นต้องยาว สั้นๆ แต่ให้ได้ได้ใจความ ที่คิดว่า ถ้าเป็นเราเองอ่านแล้วยังอยากไปลอง (ลองส่องเพจร้านอื่นๆ ที่เขามีคนติดตามเยอะๆ แล้วนำมาปรับๆๆๆ เดี๋ยวก็เจอสไตล์ของตัวเอง)
คลิปสั้นๆ ที่เห็นแล้วน้ำลายไหลจำเป็นต้องมีบ้าง เดี๋ยวนี้ง่ายมาก มือถือเครื่องเดียวจบได้ทุกกระบวนการการทำคลิป (เช่นกัน ไปส่องเพจรีวิวร้านอาหาร แล้วถ่ายคลิปแบบนั้นเลย)
ย้ำเลยว่า Content สำคัญมากๆ เพราะถ้า Content ไม่โดน ไม่น่าสนใจ คนก็เลื่อนผ่านไปอย่างไว จะบอกว่า เพจร้านอาหารนี่แหละเป็นอะไรที่ยั่วความอยากคนได้ดีที่สุด แค่มองหาความต้องการของลูกค้าและนำเสนอออกมาให้โดน ส่องเพจอื่นๆ เยอะๆ แล้วนำมาต่อยอดแนวทางของตัวเอง Content ไม่มีอะไรตายตัวแต่ต้องดึงดูดความอยากให้ได้
แนวทางที่ 4 ปรับการยิงแอด
ส่วนนี้ก็สำคัญมากๆ สำหรับปัจจุบันนี้ ทำ Content อย่างดี แต่ไม่ใส่งบโฆษณาให้กับเฟซบุ๊กการเข้าถึงผู้คนก็แทบไม่ถึงไหน เก็บความคิดว่า ถ้า Content โดนไม่ต้องยิงแอดก็ได้ไว้ก่อน ความคิดนี้มันเหมาะสำหรับเพจดารา เพจสายดาร์ก หรือเพจ18+ เป็นส่วนใหญ่ ถ้าเป็นเพจอื่นๆ อย่าหวังว่า Content ดีๆ แล้วไม่ต้องยิงแอดก็ปังได้ น้อยมากยิ่งกว่าซื้อหวยแล้วถูกแจ็คพอร์ต เพราะเฟซบุ๊กเขาก็ทำธุรกิจ ยิ่งเป็นแฟนเพจมันยิ่งคือธุรกิจเขาออกแบบมาให้ต้องมีการลงทุนโฆษณาเพื่อให้ Content เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น จัดงบโฆษณาไว้เถอะ
อยากบอกว่า เพจร้านอาหาร ได้เปรียบเพจประเภทอื่นๆ มาก ฐานกลุ่มคนที่ให้ความสนใจอาหารมีมหาศาลเอาเป็นว่าแทบทุกคนบนโลกเฟซบุ๊กก็ว่าได้ ทำให้การค้นหากลุ่มเป้าหมายทำได้หลากหลายและง่ายกว่าเพจประเภทอื่นๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะใช้วิธียิงแอดแบบหว่านไปทั่วมันก็ดูจะสิ้นเปลืองงบไปหน่อย
การยิงแอด ยังเป็นอะไรที่หลายคนถูกล่อลวงจากเฟซบุ๊ก มีจำนวนมากที่ใช้ปุ่ม Boost Post บนแอพตัวจัดการเพจ เพราะง่าย แต่สิ่งที่จะโดนคือ การถูกสูบเงินจากเฟซบุ๊กก็ง่ายเช่นกัน เพราะเราไม่สามารถจำกัดกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำแนะนำให้ใช้การจัดการโฆษณาในเวอร์ชั่นเดสก์ท็อป ไปตั้งค่ากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการไว้ให้พอใจ แล้วถึงเวลาถ้าไม่สะดวกยิงแอดด้วยเวอร์ชั่นเดสก์ท็อปก็ใช้ผ่านแอพได้โดยเลือกกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้แล้วบนเดสก์ท็อป
การเลือกกลุ่มเป้าหมายแนะนำให้คำนึกถึงพฤติกรรมแวดล้อมของกลุ่มเป้าหมาย ชอบทำอะไร ชอบไปที่ไหน พฤติกรรมแวดล้อมจะเป็นตัวกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้แม่นยำขึ้น แต่อย่างที่บอกว่า เพจร้านอาหารมีกลุ่มเป้าหมายให้เลือกเยอะสามารถทดลองผลได้หลากหลาย เพราะทุกคนมีโอกาสมาเป็นลูกค้า หรือแชร์บอกต่อๆ กันไปได้
แต่ๆๆๆๆ ต่อให้การยิงแอดจะทำได้ดีแค่ไหน ถ้า Content ที่ยิงแอดไม่น่าสนใจทุกอย่างก็จบ
แนวทางที่ 5 ติดตามปรับปรุงผลงานยิงแอดอยู่ตลอดเวลา
ประเด็นนี้สั้นๆ ครับ เมื่อเรายิงแอดไปแล้ว เท่ากับว่า เราลงทุนไปแล้ว จะต้องเกิดการเสียเงินให้เฟซบุ๊กแน่ๆ เงินที่เสียไปคือต้นทุนอย่างหนึ่ง ดังนั้น อย่าปล่อยแอดแช่ไว้นานๆ ต้องติดตามผลงานยิงแอดทุกวันเพื่อปรับปรุง เช่น ถ้ากลุ่มเป้าหมายที่เลือกตอบรับน้อย ต้นทุนต่อการมีส่วนร่วมสูง การตอบสนองต่อโพสต์ต่ำก็ปิดแอดเซฟงบ เลือกกลุ่มเป้าหมายใหม่
ทำสถิติส่วนตัวไว้ด้วยว่า เรายิงแอดกลุ่มไหนไป ช่วงเวลาที่ยิง และอื่นๆ เพื่อไว้เปรียบเทียบ กลุ่มเป้าหมายไหนตอบสนองดีก็จะได้ยิงต่อไป
จริงๆ แล้วเฟซบุ๊กทำระบบไว้อย่างดีแล้ว มีเครื่องมือต่างๆ ที่จะช่วยทำให้การใช้งานแฟนเพจ การลงโฆษณา ได้ผลลัพธ์ที่ดี แต่เป็นผู้ใช้งานเองนั่นแหละที่ละเลยสิ่งที่เฟซบุ๊กทำไว้ให้ อยากให้นึกไว้เสมอครับ ว่าเพจก็คือหน้าร้านเราและต้นทุนยิงแอดไม่ว่าจะกี่สตางค์ ก็คือต้นทุนที่เราจะต้องเสียไป ความคุ้มค่าที่ได้รับกลับมาคือสิ่งที่เราต้องใส่ใจ ให้เวลากับมัน
ยังมีอีกหลายประเด็นเกี่ยวกับการการใช้แฟนเพจทำการตลาดไว้จะมาแบ่งปันกันครับ แต่ส่วนตัวผม ไม่มีสูตรตายตัว ไม่มีอะไรผิด หรือถูก อะไรที่เราทำแล้วได้ผลลัพธ์ดีนั่นแหละจงทำต่อไปและพัฒนาให้มันดีขึ้น