ขอต่อเนื่องเรื่องคุณสมบัติและหน้าที่ของผู้จัดการร้านกันอีกสักตอน เพราะจะว่าไปแล้วผู้จัดการร้านถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญนำพากิจการร้านอาหารให้สำเร็จหรือล้มเหลวได้เลย ถ้าร้านไหนมีผู้จัดการที่ดีร้านนั้นก็มีโอกาสรุ่งกิจการเติบโตเพราะผู้จัดการร้านที่ดีจะมาพร้อมคุณสมบัติของการเป็นนักบริหาร 360 องศาฯ เรามาติดตามกันว่าการเป็นนักบริหารของผู้จัดการร้านที่ดีนั้นมีหน้าที่อะไรบ้าง
คอยบริหารยอดขายของร้านให้เป็นไปตามเป้าหมายที่เจ้าของกิจการกำหนดไว้ ซึ่งข้อนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากถือว่าเป็นภารกิจต้นๆ ที่ผู้จัดการร้านจะต้องนึกถึงอยู่สม่ำเสมอ ว่าจะทำอย่างไรให้ยอดขายเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งผู้จัดการร้านจะต้องมีแผนการกลยุทธ์ต่างๆ นำมาเสนอเจ้าของกิจการ ยิ่งเป็นช่วงยอดตกจากสถานการณ์ต่างๆ ผู้จัดการร้านยิ่งต้องคิดหาแผนการกระตุ้นยอดขาย ไม่ใช่ปล่อยให้ร้านเป็นไปตามสถานการณ์นั้นๆ
ดูแลเรื่องการสั่งวัตถุดิบเข้าร้านเพื่อให้มีเพียงพอต่อการขายในแต่ละวัน ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงพอต่อการขาย ยังต้องคำนวณไม่ให้วัตถุดิบที่สั่งเข้ามานั้นเหลือค้าง Stock จนส่งผลกระทบต่อคุณภาพของวัตถุดิบ หรือวัตถุดิบเหลือ
ค้างจนใช้ไม่ทันและหมดอายุเป็นต้นทุนสูญเปล่าของร้าน
คอยบริหารความพึงพอใจของลูกค้า โดยการหาโอกาสในการพูดคุยกับลูกค้าสอบถามถึงความพึงพอใจที่ได้รับในการบริการ คุณภาพของอาหาร และในการพูดคุยกับลูกค้าโดยตรงนั้น ยังเป็นการสร้างความประทับใจให้ลูกค้า
ให้เกิดความรู้สึกผูกพันธ์กับร้านได้อีกด้วย
คอยแก้ไขปัญหาการร้องเรียนของลูกค้า ซึ่งในการทำร้านอาหารหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพบกับการร้องเรียนของลูกค้าซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ที่ผู้จัดการร้านควรมีทักษะในการแก้ไขข้อร้องเรียนต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในร้าน และควรแก้ไขให้จบลงภายในร้านให้ได้ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ลูกค้าออกจากร้านไปโดยยังไม่ได้รับการแก้ไข มีโอกาสสูงมากที่จะนำความไม่พอใจนั้นไปโพสต์หรือแชร์ลงโลกโซเชี่ยลได้
จัดการดูแลเรื่องต้นทุนอาหาร ให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เพราะต้นทุนอาหารคือต้นทุนที่มีค่าใช้จ่ายสูงที่สุดในการทำธุรกิจร้านอาหารหากผู้จัดการไม่ทราบถึงวิธีการดูแลต้นทุนอาหาร ต่อให้ขายได้มากเท่าใดแต่ดูแลต้นทุนอาหารไม่ได้ก็มีโอกาสที่จะมีกำไรน้อยจนถึงขาดทุนได้ ซึ่งในการดูแลต้นทุนอาหารนั้น ผู้จัดการร้านสามารถดูแลผ่านกระบวนการดูแลต้นทุนอาหารต่างๆ เช่น ขั้นตอนการรับสินค้า, การสั่งวัตถุดิบ, การนับStockวัตถุดิบ, ขั้นตอนการทำงานในจุดต่างๆ, ระบบการเชียร์ขายอาหาร เป็นต้น
จัดการบริหารค่าแรงพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมกับยอดขายในแต่ละเดือน หรือทางเพื่อนๆ หากเปิดร้านมาสักพักแล้ว และมีการทำงบกำไร-ขาดทุน(P&L)มาตลอด ก็สามารถนำข้อมูลงบกำไร-ขาดทุนนั้นมาตั้งเป็นเกณฑ์ในการให้ผู้จัดการร้านบริหารร้านต่อไปได้
ทำสรุปข้อมูลการขายรายวัน และสรุปยอดขายรายเดือน เช่น ยอดขาย จำนวนลูกค้า จำนวนบิล ค่าเฉลี่ยต่อหัว ค่าเฉลี่ยต่อบิล ข้อมูลโปรโมชั่น และข้อมูลอื่นๆ ที่ทางเจ้าของกิจการต้องการทราบ เพื่อนำไปวิเคราะห์ทำการตลาดหรือวางกลยุทธ์ต่อไป
คอยนำเสนอแนวทางในการพัฒนาร้านด้านต่างๆ เช่น การเพิ่มยอดขาย, วิธีการทำงานที่รวดเร็วหรือดียิ่งขึ้น, การควบคุมต้นทุนต่างๆ หรือแม้แต่การพัฒนาความสุขและความเป็นอยู่ของพนักงาน ผู้จัดการร้านก็ควรที่จะมีการนำเสนอมาให้กับเจ้าของกิจการเพื่อพิจารณาอยู่เรื่อยๆ
คอยรายงานปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในร้านให้กับทางเจ้าของกิจการร้านทราบอยู่สม่ำเสมอ ทั้งปัญหาที่แก้ไขไปแล้ว และปัญหาที่กำลังรอการตัดสินใจ
คอยสนับสนุนกิจรรมทางการตลาดที่ทางเจ้าของกิจการได้ทำขึ้น เพื่อให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือหน้าที่ที่ผู้จัดการ้านจำเป็นต้องทำนำมาแบ่งปั่นต่อกันให้กับเพื่อนๆ ผู้ประกอบการได้ทราบเพื่อนำไปมอบหมายภารกิจหน้าที่ให้กับผู้จัดการร้านได้อย่างเหมาะสม แต่หากร้านไหนไม่มีผู้จัดการร้านเจ้าของเป็นคนจัดการเองคุณสมบัติทุกข้อที่กล่าวมาจะตกอยู่ที่เจ้าของร้านแต่เพียงผู้เดียว
ดังนั้นก่อนที่เพื่อนๆ จะนำข้อมูลทั้งหมดนี้กลับไปมอบหมายให้ผู้จัดการร้านทำ อยากให้เพื่อนๆ ได้ลองทำทั้งหมดนี้ให้ชำนาญก่อน จากนั้นจึงถ่ายทอดผ่านการสอนให้กับผู้จัดการร้านต่อไปนะครับ
TR : กระต่ายดำ