สูตรอาหารกับความลับทางการค้า

หลังจากที่มีประเด็นดราม่าเกิดขึ้นว่า สูตรเบเกอรี สูตรอาหาร ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ ซึ่งส่งผลให้หลายคนที่ประกอบอาชีพค้าขายอาหาร ขายเบเกอรีเกิดความกังวลและสงสัยว่า การนำสูตรมาทำขายนั้นเป็นเรื่องที่ผิดไหม หรือถ้าต้องการความคุ้มครอง สูตรอาหาร สูตรเบเกอรีของตนเองต้องทำอย่างไร

ความลับทางการค้า (Trade Secret)

ความลับทางการค้า ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาในทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม ตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 หมายถึง ข้อมูลที่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ยังไม่มีการเปิดเผย และเป็นข้อมูลที่นำไปใช้ประโยชน์ทางการค้าได้

ซึ่งความลับทางการค้า สามารถได้รับความคุ้มครองได้เลย โดยไม่ต้องไปจดทะเบียน ระยะเวลาความคุ้มครอง คุ้มครองตลอดที่ยังเป็นความลับอยู่ หากมีการเปิดเผย จะถือว่าไม่เป็นความลับทางการค้า

ถึงแม้ไม่ได้จดทะเบียน แต่เจ้าของความลับหรือผู้มีหน้าที่ควบคุมความลับทางการค้าต้องมีมาตรการในการรักษาความลับที่เหมาะสม เช่น หากคุณเปิดร้านอาหาร มีการคิดค้น สูตรอาหาร เองด้วยความยากลำบาก ยังไม่มีใครรู้จัก และยังไม่มีใครทำมาก่อนอย่างแน่นอน คุณสามารถเก็บเป็นความลับโดยการเก็บสูตรนั้นไว้ในที่ที่ปลอดภัย มีการเข้ารหัส หรือถ้าคุณทำเป็นธุรกิจครอบครัวก็อาจจะรู้สูตรแค่เฉพาะคนในครอบครัว

หรืออีกกรณีหนึ่ง คุณต้องการขายน้ำจิ้ม เพื่อส่งออกทั่วประเทศ มีสูตรน้ำจิ้มเป็นของตนเอง และจำเป็นต้องติดต่อกับทางโรงงาน เพื่อสั่งผลิตเป็นจำนวนมาก คุณอาจจะมีการเซ็นสัญญารักษาความลับก่อนการทำสัญญากับทางโรงงานนั้น เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิความลับทางการค้า

อย่างบริษัททรัสต์ คอมพานี แห่งรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐฯ ใช้เป็นที่เก็บสูตรลับของโคคา-โคล่า ซึ่งผู้ที่จะรู้สูตรลับนี้คือ ผู้อำนวยการบริษัทเท่านั้น

แล้วก็จะเกิดคำถามตามมาอีกว่า แต่โคคา-โคล่า มีจำหน่ายทั่วโลก ผู้อำนวยการบริษัทจะรู้สูตรคนเดียวได้อย่างไร ต้องบอกก่อนว่า บริษัทจะจัดส่งให้เพียงหัวเชื้อเท่านั้น จากนั้น ผู้แทนจำหน่ายก็นำไปผสมโซดาจำหน่ายต่อไป

นอกจากนี้ ความลับทางการค้าเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินกับธนาคารได้ และเจ้าของความลับทางการค้า มีสิทธิ์ที่จะนำความลับทางการค้ามาแจ้งที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเป็นหลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของ และยังสามารถนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจติดต่อขออนุญาติใช้สิทธิ์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

หมายเหตุ เจ้าของความลับ คือ ผู้คิดค้น, ค้นพบ, รวบรวม, หรือสร้างสรรค์ข้อมูลทางการค้าที่เป็นความลับ โดยไม่ได้ละเมิดความลับทางการค้าของผู้อื่น

ผู้ควบคุมความลับทางการค้า คือ เจ้าของความลับทางการค้า, ผู้ครอบครอง, ควบคุม, รวมถึงผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลรักษาความลับทางการค้า

ส่วนข้อมูลทางการค้า เป็นสิ่งที่สื่อความหมายให้รู้ เช่น ข้อความ, เรื่องราว, ข้อเท็จจริง, สูตร,  รูปแบบ, งานที่ได้รวบรวมประกอบขึ้น, โปรแกรม, วิธีการ, เทคนิค, สูตรยา, สูตรอาหาร, สูตรเบเกอรี, สูตรเครื่องดื่ม, สูตรเครื่องสำอาง

พฤติกรรมที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิความลับทางการค้า

  • มีการเปิดเผย โดยที่เจ้าของความลับไม่ได้ยินยอม
  • พยายามแสวงหาหรือสืบค้นว่า แหล่งที่มามาจากไหน
  • พยายามลอกเลียนแบบ

ยกตัวอย่าง คุณเปิดร้านเบเกอรี มีการคิดค้นสูตรเอง ไม่มีใครทำสูตรนี้ขึ้นมาก่อนเลย แต่ลูกจ้างนำสูตรไปขายให้กับร้านคู่แข่ง กรณีนี้ ลูกจ้างถือว่าละเมิดสิทธิความลับทางการค้า แต่ถ้าเป็นสูตรที่รู้กันโดยทั่วไป ใคร ๆ ก็ทำได้ กรณีนี้ไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิความลับทางการค้า

พฤติกรรมที่ไม่ถือว่าละเมิดสิทธิความลับทางการค้า

  • ได้รับมาโดยมรดกหรือนิติกรรม ถูกต้องตามสิทธิ์
  • ค้นพบด้วยความรู้ ความสามารถของผู้ค้นพบเอง (กรณีค้นพบด้วยตนเอง แล้วบังเอิญเหมือนกับผู้อื่น ก็ต้องไปพิสูจน์กันต่อไป)
  • มีหน่วยงานรัฐเข้ามารักษาความลับทางการค้า เพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยความปลอดภัยของประชาชน
  • การทำวิศวกรรมย้อนหลัง คือ การนำผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปมาศึกษาวิเคราะห์ จนทราบวิธีการประดิษฐ์ จัดทำ และที่สำคัญต้องมาโดยวิธีที่สุจริต

ยกตัวอย่าง คุณพ่อเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร มีสูตรอาหารที่เป็นความลับทางการค้า จากนั้น ได้บอกสูตรลับแก่ลูก กรณีนี้ ลูกไม่ถือว่าละเมิดสิทธิความลับทางการค้า เพราะได้รับมาโดยมรดกถูกต้องตามสิทธิ์

หากมีการละเมิดสิทธิความลับทางการค้าทำอย่างไร

  • ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้นั้นระงับหรือละเว้นการละเมิดสิทธิความลับทางการค้าเป็นการชั่วคราว
  • ฟ้องคดีต่อศาล เพื่อให้มีคำสั่งห้ามไม่ให้ละเมิดสิทธิในความลับทางการค้า และฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้ละเมิดสิทธิในความลับทางการค้า

หมายเหตุ พระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 ได้กำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน หากมีการเปิดเผยความลับทางการค้าของผู้อื่น ไม่ว่าจะมีเจตนากลั่นแกล้งให้เกิดความเสียหายในการประกอบธุรกิจ, การโฆษณาด้วยเอกสาร, การกระจายเสียง, การแพร่ภาพ, หรือการเปิดเผยด้วยวิธีอื่น ๆ  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ระยะเวลาในการฟ้องคดีละเมิดสิทธิความลับทางการค้า

ระยะเวลาในการฟ้องคดีละเมิดสิทธิความลับทางการค้าไม่เกิน 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ผู้ควบคุมความลับทางการค้าถูกละเมิดสิทธิ รู้ถึงการละเมิด หรือรู้ตัวผู้กระทำละเมิด

[irp posts=”14443″ name=”แม้ต้นทุนน้อย ก็สามารถขายอาหารออนไลน์ได้ !”]

สูตรอาหารและสูตรเบเกอรี ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ ?

ก่อนอื่นคุณต้องทราบก่อนว่า ทรัพย์สินทางปัญญาคืออะไร ? ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นผลงานที่เกิดจากการประดิษฐ์ คิดค้น หรือการสร้างสรรค์ของมนุษย์ โดยแบ่งย่อยออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ลิขสิทธิ์ และ ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม

1.ลิขสิทธิ์

ลิขสิทธิ์ คือ สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ มีการคิดริเริ่มโดยการใช้สติปัญญาความรู้ ความสามารถ โดยไม่ลอกเลียนแบบงานของผู้อื่น

ประเภทงานที่มีลิขสิทธิ์ (สามารถยื่นแจ้งลิขสิทธิ์ได้)

  • งานวรรณกรรม หนังสือ, จุลสาร, สิ่งเขียน, สิ่งพิมพ์, คำปราศรัย, โปรแกรม, คอมพิวเตอร์
  • งานนาฏกรรม รำ, เต้น, การทำท่า, การแสดงประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว, การแสดงโดยวิธีใบ้
  • งานศิลปกรรม จิตรกรรม, ประติมากรรม, ภาพพิมพ์, สถาปัตยกรรม, ภาพถ่าย, ภาพประกอบ, หรืองานสร้างสรรค์รูปทรงสามมิติเกี่ยวกับภูมิประเทศ, วิทยาศาสตร์, งานศิลปะประยุกต์, ซึ่งรวมถึงภาพถ่ายและแผนผังของงานดังกล่าวด้วย
  • งานดนตรีกรรม คำร้อง, ทำนอง, การเรียบเรียงเสียงประสาน, โน้ตเพลงที่แยกและเรียบเรียงเสียงประสานแล้ว
  • งานสิ่งบันทึกเสียง เทปเพลง, แผ่นคอมแพ็คดิสก์ (ซีดี), ที่บันทึกข้อมูลเสียง, ทั้งนี้ ไม่รวมถึงเสียงประกอบภาพยนตร์ หรือเสียงประกอบโสตทัศนวัสดุอย่างอื่น
  • งานโสตทัศนวัสดุ วีดีโอเทป, วีซีดี, ดีวีดี, แผ่นเลเซอร์ดิสก์ที่บันทึกข้อมูลประกอบด้วยลำดับของภาพ, หรือภาพและเสียงที่สามารถนำมาเล่นซ้ำได้
  • งานภาพยนตร์ ภาพยนตร์, เสียงประกอบของภาพยนตร์
  • งานแพร่เสียงแพร่ภาพ การกระจายเสียงวิทยุ, การแพร่เสียง, หรือภาพทางโทรทัศน์
  • งานประเภทอื่น ๆ วรรณคดี, วิทยาศาสตร์, และศิลปะ

หมายเหตุ การแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเพียงการแจ้งว่า ตนเองเป็นเจ้าของสิทธิ์ในผลงานลิขสิทธิ์ที่แจ้งไว้เท่านั้น

ประเภทที่ไม่สามารถยื่นแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ได้

  • ความคิด, ขั้นตอน, กรรมวิธี, ระบบ, วิธีใช้หรือวิธีทำงาน, แนวความคิด, หลักการ, การค้นพบ, ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์, หรือคณิตศาสตร์
  • ข่าวประจำวัน, ข้อเท็จจริง
  • รัฐธรรมนูญ, กฎหมาย
  • ระเบียบ, ข้อบังคับ, ประกาศ, คำสั่ง, คำชี้แจง, และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง  กรม หน่วยงานของรัฐหรือท้องถิ่น
  • คำพิพากษา, คำสั่ง, คำวินิจฉัย, และรายงานทางราชการ

2.ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม

ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม คือ  ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่เกี่ยวกับสินค้าอุตสาหกรรม เป็นความคิดที่เกิดจากการประดิษฐ์ คิดค้น หรือมีการปรับปรุงขึ้นมาใหม่ โดยทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม ได้แก่

  • สิทธิบัตร
  • แบบผังภูมิของวงจรรวม
  • เครื่องหมายการค้า
  • ความลับทางการค้า
  • ชื่อทางการค้า
  • สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

ดังนั้น คำถามที่ว่า สูตรอาหารและสูตรเบเกอรี ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ คำตอบคือ เป็นทรัพย์สินทางปัญญา แต่คุ้มครองในส่วนของความลับทางการค้า นั่นเอง ทั้งนี้ หากกังวลว่า สูตรที่ทำขายอยู่นั้นผิดไหม ต้องพิจารณาด้วยว่า สูตรที่ได้มานั้น เป็นสูตรที่รู้กันโดยทั่วไปหรือไม่ มีสัญญาแจ้งไว้ไหม เก็บเป็นความลับทางการค้าหรือเปล่า

หรืออีกกรณีหนึ่ง คุณจัดทำหนังสือเกี่ยวกับอาหาร มีเจตนาคือ ขายหนังสือ แต่คุณไปก็อปหนังสืออาหารจากเชฟคนหนึ่ง แล้วนำมาดัดแปลงทำหนังสือขายเป็นของตนเอง กรณีนี้ถือว่า ละเมิดลิขสิทธิ์ในด้านวรรณกรรม หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามได้ที่ เว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือโทร 1368

9eak
9eak
ทดสอบครับ

Related Articles

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

Stay Connected

0แฟนคลับชอบ
0ผู้ติดตามติดตาม
- Advertisement -spot_img

Latest Articles