ภาษีป้าย เรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการควรทราบ!

ภาษีป้าย ถือเป็นเรื่องที่สำคัญกับผู้ประกอบการอย่างมาก หากคุณมีธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจเสื้อผ้า หรือสิ่งใดก็ตามที่ได้ขึ้นชื่อว่า ธุรกิจ ถ้ามีหน้าร้าน มีป้ายชื่อร้าน ป้ายที่โฆษณา เพื่อหารายได้ ล้วนต้องเสียภาษีป้ายทั้งนั้น หลายคนคงอยากทราบกันแล้วว่า ภาษีป้ายคืออะไร ทำไมต้องเสียภาษี

ภาษีป้าย คืออะไร ?

ภาษีป้าย คือ ป้ายที่ต้องมีการเสียภาษี นั่นเอง โดยป้ายที่มีการเรียกเก็บภาษี ได้แก่ ป้ายที่เป็นชื่อร้าน ยี่ห้อ เครื่องหมายการค้า หรือโฆษณาการค้า เพื่อหารายได้ อย่างป้ายบิลบอร์ด  ป้ายที่ติดตามตึกต่าง ๆ หรือเวลาที่เราขับรถอยู่บนทางด่วน มักจะพบเห็นป้ายขนาดใหญ่

ซึ่งอาจจะแสดงในรูปแบบของตัวอักษร ภาพ เครื่องหมายที่เขียน แกะสลักบนวัสดุ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีป้ายที่ได้รับการยกเว้นเสียภาษีอีกด้วย

ป้ายที่ได้รับการยกเว้นการเสียภาษี

  • ป้ายที่ติดในอาคาร
  • ป้ายที่มีล้อเลื่อน (ต้องมีการเลื่อนป้ายเข้า-ออก)
  • ป้ายตามงานอีเวนต์ที่จัดเป็นครั้งคราว
  • ป้ายของทางราชการ
  • ป้ายของโรงเรียนทั้งรัฐและเอกชน
  • ป้ายวัด สมาคม มูลนิธิ
  • ป้ายที่แสดงไว้ ณ โรงมหรสพและบริเวณของโรงมหรสพนั้น เพื่อโฆษณามหรสพ
  • ป้ายที่ติดอยู่กับสินค้า บรรจุภัณฑ์สินค้า
  • ป้ายที่ติดไว้ที่คนและสัตว์
  • ป้ายขององค์การที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ได้แก่ ป้ายของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการสหกรณ์ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
  • ป้ายของผู้ประกอบการเกษตร
  • ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ รถบดถนนหรือรถแทรกเตอร์

ใครบ้างที่ต้องเสียภาษีป้าย

  • เจ้าของป้าย
  • ผู้ครอบครองป้าย
  • ผู้จัดการมรดก ผู้จัดการทรัพย์สิน ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์

หมายเหตุ ผู้อนุบาล คือ ผู้ที่มีหน้าที่ดูแล “คนไร้ความสามารถ” จัดการดูแลทรัพย์สินตลอดจนทำหน้าที่ต่าง ๆ แทนคนไร้ความสามารถ ส่วนผู้พิทักษ์ คือ ผู้ที่มีหน้าที่ดูแล “คนเสมือนไร้ความสามารถ” เช่น ร่างกายพิการ จิตไม่ปกติ ไม่สมประกอบ เป็นต้น

ถ้าหากหาเจ้าของป้ายไม่ได้ ไม่มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายทำอย่างไร?

ถ้าหาเจ้าของป้ายไม่ได้ให้ถือว่า ผู้ครอบครองป้ายมีหน้าที่เสียภาษีป้าย แต่ถ้าหาผู้ครอบครองป้ายไม่ได้อีกให้ถือว่า เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร สถานที่ ที่ดินที่ป้ายนั้นติดตั้งหรือแสดงอยู่เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย

มาถึงตรงนี้ เชื่อว่า เพื่อน ๆ คงเข้าใจเรื่องภาษีป้ายมากยิ่งขึ้น และคงอยากทราบกันแล้วว่า มีการคิดค่าภาษีป้ายเท่าไหร่ ซึ่งกฎหมายได้กำหนดไว้ ดังนี้

อัตราค่าภาษีป้าย

ป้ายประเภทที่ 1

  • ป้ายที่มีข้อความภาษาไทย (ป้ายติดทั่วไป) 5 บาท/500 ตร.ซม.
  • ป้ายที่มีข้อความภาษาไทย เคลื่อนที่หรือเปลี่ยนข้อความได้ (ป้ายไฟวิ่ง) 10 บาท/500 ตร.ซม.

ป้ายประเภทที่ 2

  • ป้ายที่มีทั้งข้อความภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ รูปภาพ เครื่องหมายอื่น ๆ (ป้ายติดทั่วไป) 26 บาท/500 ตร.ซม.
  • ป้ายที่มีทั้งข้อความภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ รูปภาพ เครื่องหมายอื่น ๆ ที่เคลื่อนที่ เปลี่ยนข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่น ๆ ได้ (ป้ายไฟวิ่ง) 52บาท/500 ตร.ซม.

ป้ายประเภทที่ 3

  • ป้ายที่ไม่มีข้อความภาษาไทย หรือมีภาษาไทยเพียงบางส่วน และทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าภาษาต่างประเทศ (ป้ายติดทั่วไป) 50 บาท/500 ตร.ซม.
  • ป้ายที่ไม่มีข้อความภาษาไทย หรือมีภาษาไทยเพียงบางส่วน และทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าภาษาต่างประเทศที่เคลื่อนที่ เปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่น ๆ ได้ (ป้ายไฟวิ่ง) 52 บาท/500 ตร.ซม.

หมายเหตุ สำหรับค่าภาษีป้ายมีการเรียกเก็บเป็นรายปี อัตราภาษีป้ายขั้นต่ำ 200 บาท หากคำนวณพื้นที่ป้ายแล้ว มีเศษเกิน 250 ตร.ซม. ให้คิดเป็น 500 ตร.ซม.

สำหรับอัตราการเสียภาษีดังกล่าว ใช้บังคับสำหรับป้ายที่ต้องเสียภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ส่วนป้ายที่เสียภาษีก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 จะเป็นไปตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 และเหตุผลที่ต้องมีการปรับมาใช้รูปแบบใหม่เพราะว่า  พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 บังคับใช้มานานแล้ว ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ

[irp posts=”13351″ name=”ธุรกิจร้านอาหาร ต้องใช้ใบอนุญาตอะไรบ้าง ?”]

ระยะเวลาการยื่นแบบและชำระภาษี

หากคุณเป็นเจ้าของป้ายจำเป็นต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) เพื่อชำระภาษีที่ฝ่ายรายได้ สำนักงานเขตที่ป้ายนั้นติดตั้งอยู่ ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี ส่วนป้ายที่มีการติดตั้งใหม่หรือมีการเปลี่ยนแปลงหลังเดือนมีนาคม ให้ยื่นแบบภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ติดตั้งป้าย

เอกสารที่ต้องเตรียม

  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  • สำเนาทะเบียนการค้าหรือทะเบียนพาณิชย์
  • สำเนาใบอนุญาตติดตั้งป้ายหรือใบเสร็จรับเงินจากร้านทำป้าย (ถ้ามี)
  • หนังสือรับรองนิติบุคคล (กรณีนิติบุคคล)
  • ใบมอบอำนาจ กรณีให้ผู้อื่นดำเนินการแทน

หมายเหตุ เอกสารที่ต้องเตรียมขึ้นอยู่กับเขตพื้นที่นั้น ๆ ด้วย

ช่องทางการชำระภาษี

เมื่อได้รับใบแจ้งการประเมินภาษีจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายรายได้แล้ว สามารถเลือกชำระเงินภาษีได้ที่

  • ฝ่ายการคลัง สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต
  • ธนาคารกรุงไทย (ทุกสาขาทั่วประเทศ)
  • ตู้ ATM ธนาคารกรุงไทย
  • Internet Banking ธนาคารกรุงไทย

หมายเหตุ หากชำระภาษีเกินระยะเวลาที่กำหนดและมีเงินเพิ่ม สามารถชำระได้ที่สำนักงานเขต

หากไม่ยื่นแบบชำระภาษีหรือไม่ชำระเงินค่าภาษีตามกำหนดจะเกิดอะไรขึ้น

  1. กรณีไม่ยื่นแบบชำระภาษีในเวลาที่กำหนด ต้องเสียเงินเพิ่ม 10 % ต่อเดือนของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษี
  2. กรณีไม่ชำระเงินค่าภาษีในเวลาที่กำหนด ต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษี

ข้อกฎหมายและบทลงโทษ

  • หากผู้ประกอบการมีเจตนาไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 บาท – 50,000 บาท
  • ถ้าผู้ประกอบการแจ้งข้อความเท็จ หรือหลีกเลี่ยงไม่จ่ายภาษี จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 บาท – 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ถ้าไม่แจ้งรับโอนป้าย หรือไม่แสดงรายการเสียภาษีป้าย มีโทษปรับตั้งแต่ 1,000 บาท – 10,000 บาท

สำหรับใครที่มีธุรกิจเป็นของตนเอง ก็อย่าลืมดำเนินการให้ถูกต้อง โดยการไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย ชำระค่าภาษีป้าย หากใครมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สำนักงานเขตทุกพื้นที่

บทความแนะนำ

Social Media เพื่อนแท้ร้านอาหาร

260,000แฟนคลับชอบ

บทความล่าสุด