ในขณะที่โลกร้อนขึ้นและปัญหาการขาดแคลนน้ำยังคงส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรที่แห้งแล้งอย่างต่อเนื่อง นักวิจัยจาก MIT สหรัฐอเมริการ่วมกับนักวิจัยโมร็อกโก จึงได้คิดค้นกระบวนการเคลือบเมล็ดพันธุ์ที่สามารถกักเก็บน้ำที่มีอยู่ เป็นการปกป้องเมล็ดพืชจากความเครียดจากการขาดแคลนน้ำในช่วงระยะการงอก และให้สารอาหารเพิ่มเติมแก่พืชในเวลาเดียวกัน
นักวิจัยได้พัฒนาสารเคลือบใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสารเคลือบธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับเมล็ดบางชนิด เช่น เจียและโหระพา ได้รับการออกแบบมาเพื่อปกป้องไม่ให้เมล็ดแห้ง โดยให้สารเคลือบที่มีลักษณะคล้ายเจลที่อุ้มความชื้นและห่อหุ้มเมล็ดไว้ โดยชั้นที่สองและชั้นในของสารเคลือบประกอบด้วยจุลินทรีย์ที่เก็บรักษาไว้ ที่เรียกว่า “ไรโซแบคทีเรีย” และสารอาหารบางชนิดที่ช่วยให้พวกมันเติบโต เมื่อสัมผัสกับดินและน้ำ จุลินทรีย์จะตรึงไนโตรเจนในดิน โดยให้ปุ๋ยที่มีคุณค่าทางโภชนาการแก่ต้นกล้าที่กำลังเติบโต
วัสดุที่ใช้เคลือบหาได้ง่ายและมักใช้ในอุตสาหกรรมอาหารอยู่แล้ว ที่สำคัญสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพอย่างสมบูรณ์ และสารประกอบบางชนิดสามารถได้มาจากเศษอาหาร ซึ่งสามารถนำมารีไซเคิลได้อย่างต่อเนื่อง
แม้ว่ากระบวนการนี้จะทำให้ต้นทุนของเมล็ดพืชเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ก็อาจช่วยประหยัดได้ด้วยการลดความต้องการน้ำและปุ๋ยลง ส่วนยอดดุลสุทธิของต้นทุนและผลประโยชน์ยังคงต้องพิจารณาจากการวิจัยเพิ่มเติม
เทคโนโลยีการเคลือบเมล็ดพันธุ์ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่แนวทางที่มีอยู่เกือบทั้งหมดขาดความคล่องตัวหรือการตอบสนอง งานวิจัยนี้ทั้งแปลกใหม่และสร้างสรรค์ และเป็นการเปิดช่องทางใหม่ในการทำงานสำหรับการเคลือบเมล็ดพันธุ์ที่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ
Resource : https://scitechdaily.com/