การทำการตลาดให้กับร้านอาหาร Story ยังคงเป็นพระเอกที่จะทำให้เกิดกระแสความสนใจของผู้บริโภค เกิดแชร์บอกต่อจนกลายเป็นViral Marketing ดึงดูดลูกค้า หรือ แม้แต่สื่อแขนงต่างๆ ยังต้องวิ่งมาหา ส่งกำลังแรงทวีให้กับร้านโดยที่ไม่ต้องเสียเงินค่ารีวิว หรือ ค่าโฆษณาให้กับสื่อต่างๆ แต่สิ่งที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ต้องมาจากการวางแผนสร้าง Story ให้กับร้านตั้งแต่แรกเริ่ม เหมือนที่ร้าน “อา ลม ดี คาเฟ่” ทำสำเร็จมาแล้ว ทุกวันนี้ “อา ลม ดี คาเฟ่” มี”ลูกค้า” เป็นนักรีวิวให้กับร้านซึ่งเป็นนักรีวิวที่น่าเชื่อถือมากที่สุด ลองมาติดตามเป็นแนวทางกันว่า กลยุทธ์การสร้างStoryให้กับร้านในสไตล์ “อา ลม ดี คาเฟ่” นั่นทำอย่างไร เผื่อเพื่อนๆ นำไปต่อยอดใช้กับร้านของตัวเอง
เป็นเรื่องราวความสำเร็จของร้าน “อา ลม ดี คาเฟ่” ที่มีคุณปวิตรา ยุทธบรรดล (แอ๋ม) เป็นเจ้าของ ในอีกมุมที่น่าสนใจ คือการวางแผนสร้าง Story ให้กับร้านเพื่อมุ่งหวังให้เกิดกระแสตอบรับจากลูกค้าอย่างต่อเนื่องไว้ตั้งแต่เริ่มต้นคิดทำร้าน

สร้าง Story ในทุกจุดเพื่อให้ร้านมีชีวิต
คุณแอ๋มเล่าว่า การทำร้านที่มีคอนเซ็ปท์แตกต่าง มีจุดเด่นเฉพาะตัวจะมีผลให้การทำการตลาดง่ายขึ้น แต่ไม่ใช่เพียงแค่คอนเซ็ปท์ร้านเท่านั้น ในทุกๆ จุดของร้านก็ต้องใส่การตลาดลงไปผ่าน Story ที่ถูกสร้างขึ้นอย่างตั้งใจ เริ่มตั้งแต่ชื่อร้าน
คุณแอ๋มบอกว่า ชื่อ “อาลมดี คาเฟ่” เป็นชื่อที่ถูกคัดค้านจากคนรอบข้างมาก หนึ่งเพราะเป็นชื่อไทย สองเพราะดูเชยๆ แต่สิ่งที่คุณแอ๋มคิดตรงกันข้ามคือ ชื่อไทยจะมีผลต่อการจดจำง่าย จำได้นาน ชื่อ “อาลมดี” เป็นการพ้องเสียงแบบหวังผล 2 ต่อ คือ ตอกย้ำบรรยากาศของร้านนี้อย่างชัดเจนว่าที่นี่ อากาศดี บรรยากาศสบาย และเหมาะสำหรับพักผ่อนคลายอารมณ์จากความเครียดต่างๆ ที่ร้านนี้ไม่จำกัดเวลา นั่งได้เต็มที่
ทุกวันนี้ชื่อร้าน “อาลมดี คาเฟ่” กลายเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วไปที่ชื่นชอบบรรยากาศร้านริมน้ำ มานั่งชิล นั่งทำงาน ผ่อนคลายอารมณ์
เติมเต็ม Story ในทุกเมนู เพื่อหวังผลการแชร์
ทุกวันนี้ที่ร้าน “อาลมดี คาเฟ่” ได้รับการรีวิวออกสื่อทั้งนิตยสาร และทีวี ถ้าคิดรวมเป็นมูลค่าช่วงเวลาที่ออกรายการหลักแสนบาท แต่ทางร้านไม่ต้องเสียงบในการออกสื่อ เพราะกระแสความร้อนแรงของร้านที่เกิดจากการแชร์ต่อๆ กันของลูกค้าผ่านโซเชียลเป็นแรงดึงดูดสื่อให้เข้ามา ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากการวางแผนตั้งแต่แรกเช่นกัน
“ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ใช้โชเชียล กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของแอ๋มก็เป็นลูกค้าที่ใช้โซเชียล การตลาดที่แอ๋มเน้นมากที่สุดคือ ออกแบบทุกเมนูให้ลูกค้าเกิดความต้องการถ่ายรูปเพื่อแชร์ เพราะยุคนี้คนชอบถ่าย แชร์ก่อนทาน ดังนั้น ทุกเมนูนอกจากความสวยงาม แปลกแตกต่างแล้ว ยังต้องมีเรื่องราวให้ลูกค้าได้เขียนอวดคนอื่นๆ ผ่านการแชร์ได้ด้วย แอ๋มจึงใส่ใจในการคิดเมนูแต่ละอย่างเป็นพิเศษ เมนูของที่ร้านจะเปลี่ยนทุกๆ 3 เดือน เมนูใหม่ๆ ก่อนที่จะถูกใส่ลงในรายการเมนู แอ๋มจะถ่ายลงแฟนเพจของร้านก่อน เพื่อดูผลตอบรับของลูกค้า ถ้าลูกค้าเข้ามาแล้วสั่งเมนูที่ไม่มีในรายการ เราจะรู้ทันทีว่า เขาเห็นมาจากแฟนเพจของร้าน ทำให้เราได้เรียนรู้ 2 อย่าง หนึ่งรู้ความต้องการของลูกค้าว่า เมนูที่เราส่งสารออกไปโดนใจเขา และรู้ว่าลูกค้าของเราอยู่บนโลกโซเชียลมากน้อยแค่ไหน การโฟกัสแผนทำตลาดก็จะชัดเจนขึ้น” เป็นวิธีคิดของคุณแอ๋มที่น่าลอกเลียนแบบเลยทีเดียว
คุณแอ๋มทิ้งท้ายเรื่องการสร้าง Story ให้กับร้านว่า บางครั้งแค่ภาพๆ เดียวก็มีผลต่อการตลาดอย่างมาก เช่นที่ร้าน “อาลมดี คาเฟ่” ภาพแก้วเครื่องดื่มวางบนโต๊ะมีฉากหลังเป็นลำคลอง คือภาพจุดกระแสความแรงให้กับร้านอย่างมาก ดังนั้น การตลาดยุคนี้คุณแอ๋มยืนยันว่า หนีโลกโซเชียลไม่ได้ “ถ่าย แชร์ ก่อนทาน” ฉะนั้นคนทำร้านอาหารที่คำนึงถึงพฤติกรรมลูกค้าในทุกจุดมีโอกาสชนะใจลูกค้ามากขึ้น และลูกค้าจะกลายเป็นนักโฆษณาที่ดีสุดให้กับร้านของเรา เมื่อถึงวันนั้นสิ่งที่คุณต้องรับมือให้ได้คือ ปริมาณลูกค้าที่จะมามากจนบริหารจัดการไม่ทัน แต่แน่นอนรายรับก็มากตามเช่นกัน เหมือนที่คุณแอ๋มผ่านมาได้แล้ว “คืนทุนภายในไม่ถึงหนึ่งปี”
ขอขอบคุณ คุณแอ๋ม ร้านอาลมดี คาเฟ่
ติดต่อร้านโทร.02 883 6093
