ยื่นภาษีปี 2565 พร้อมไขข้อสงสัยเรื่องที่คุณอยากรู้

ไหนใคร ยื่นภาษี 2564 กันแล้วบ้าง ! เชื่อว่า ยังมีอีกหลายคนที่ยังสงสัยว่าตนเองจะต้องยื่นภาษีหรือไม่ ต้องยื่นที่ไหน ถ้าไม่มีหน้าร้านอาหารล่ะ จำเป็นต้อง ยื่นภาษี ไหม ซึ่งทีมงานเพื่อนแท้ได้ทำการรวบรวมหาคำตอบมาไว้ที่นี่แล้ว ก่อนอื่นเลย มาทำความเข้าใจเรื่องภาษีกันก่อน

ภาษี คืออะไร

ภาษี คือ ภาระที่ประชาชนต้องนำส่งต่อภาครัฐตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ เพื่อสนับสนุนภาครัฐและกิจการของรัฐ ซึ่งผู้ที่เสียภาษีอาจจะไม่ได้รับผลประโยชน์จากส่วนนี้

บุคคลใดบ้างต้องยื่นภาษี

คนไทยทุกคนที่มีเงินได้เกิน 120,000 บาทต่อปีต้องยื่นภาษี และถ้าคุณมีรายได้สุทธิาตั้งแต่ 1-150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นเสียภาษี แต่ถ้ารายได้สูงกว่านั้น จะมีการเสียภาษีในอัตราเริ่มต้น 5% , 10%, 15% ตามลำดับ

คุณสามารถนำค่าลดหย่อนมาหักลบกับภาษีได้ ซึ่งค่าลดหย่อนนั้น นอกจากจะช่วยให้คุณจ่ายภาษีได้น้อยลงแล้ว ยังสามารถได้เงินคืนภาษีเพิ่มขึ้นอีกด้วย

หมายเหตุ การยื่นภาษี ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่อายุ แต่ขึ้นอยู่กับรายได้ต่อปีของคุณ หากรายได้ต่อปีของคุณไม่ถึงเกณฑ์ คุณจะไม่มีการเสียภาษีใด ๆ ทั้งสิ้น แต่คุณก็ต้องยื่นแบบภาษีอยู่ดี เพื่อป้องกันค่าปรับไม่ยื่นแบบ อย่างเด็ก 8 ขวบสามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองได้และรายได้เกินเกณฑ์ที่กำหนด ก็ต้องยื่นภาษีและเสียภาษีเช่นกัน (อายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ กฎหมายกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองของเด็กยื่นภาษีและเสียภาษีแทน)

ยื่นภาษีได้ที่ไหนบ้าง

  • สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทุกแห่ง
  • ช่องทางออนไลน์ผ่านระบบ E-FILING หรือคลิก rd.go.th

กำหนดวันยื่นภาษี

สามารถยื่นภาษีได้ตั้งแต่วันนี้ – 8 เมษายน 2565

หมายเหตุ หากยื่นเอกสารกระดาษจะยื่นได้ถึงวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี แต่ถ้ายื่นผ่านช่องทางออนไลน์จะยื่นได้ถึง 8 เมษายนของทุกปี แต่ด้วยสถานการณ์โควิด อาจมีการเปลี่ยนแปลง

หากไม่ยื่นภาษี ไม่เสียภาษีจะได้รับโทษอย่างไร

1.ไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 หรือ 94 ภายในเวลาที่กำหนด

ผู้เสียภาษี ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท

2.ไม่ชำระภาษีภายในวันเวลาที่ภาครัฐกำหนด

ผู้เสียภาษีจะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน จนถึงวันชำระภาษี

3.พนักงานออกหมายเรียก แต่ผู้เสียภาษีไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการ หรือชำระภาษีต่ำไป

ผู้เสียภาษีจะต้องชำระเงินเพิ่ม และเสียเบี้ยปรับอีก 1 – 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระ

4.ผู้เสียภาษีจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จ ฉ้อโกง

มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน – 7 ปี ปรับตั้งแต่ 2,000 บาท – 200,000 บาท

5.ผู้เสียภาษีมีเจตนาไม่ยื่นแบบแสดงรายการ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร

ผู้เสียภาษีมีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

หมายเหตุ หากยื่นภาษีไม่ทันในระยะเวลาที่กำหนด จะต้องนำเอกสารไปยื่นเองที่สำนักงานสรรพากรใกล้บ้าน และมีโทษการไม่ยื่นภาษี

[irp posts=”14527″ name=”ภาษีป้าย เรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการควรทราบ!”]

ผู้ประกอบการร้านอาหารที่ไม่มีหน้าร้าน ต้องยื่นภาษีไหม

สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารที่ไม่มีหน้าร้าน ขายอาหารผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่  หรือขายอาหารข้างทาง ไม่มีโต๊ะให้นั่งทาน ถ้าเป็นในนามบุคคลธรรมดาต้องยื่นภาษีแบบ ภ.ง.ด.94 และแบบ ภ.ง.ด.90 ยื่นปีละ 2 ครั้ง แต่ถ้ามีรายได้ 1 ล้าน 8 แสนบาทขึ้นไปต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 เป็นประจำทุกเดือน หรือภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

หมายเหตุ ถึงแม้ไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์ แต่รายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนดก็ต้องยื่นภาษีแบบ ภ.ง.ด.94 และภาษีแบบ ภ.ง.ด.90

*ภ.ง.ด.90 คือ ผู้ที่มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับ เช่น อาชีพเสริมแม่ค้าออนไลน์ เงินปันผล หรืออื่น ๆ

*ภ.ง.ด.91 คือ ผู้ที่มีรายได้เป็นเงินเดือน โดยไม่มีรายได้เสริมจากแหล่งงาน หรือรายได้อื่น เช่น พนักงานบริษัทที่รับเงินค่าจ้างเพียงอย่างเดียว

*ภ.พ.30 คือ แบบแสดงรายการสรุปภาษีซื้อ-ภาษีขาย

หากไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์จะเกิดอะไรขึ้น

สำหรับกรมสรรพากร หากคุณไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์ไม่มีผลอะไรครับ เพราะกรมสรรพากรจะมุ่งเน้นการให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. มากกว่า ส่วนการจดทะเบียนพาณิชย์จะเกี่ยวข้องกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ทั้งกรมสรรพากรและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นคนละหน่วยงานกัน แม้คุณไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์ก็สามารถยื่นภาษีได้

หมายเหตุ การจดทะเบียนการค้าหรือการจดทะเบียนพาณิชย์ เหมาะสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก และเป็นเจ้าของธุรกิจเพียงผู้เดียว ข้อดี คือ คุณทำสิ่งที่ถูกต้องตามที่กฎหมายไทยกำหนด และคุณสามารถใช้เป็นเอกสารประกอบขอสินเชื่อได้  อีกทั้ง ยังส่งผลให้ร้านของคุณมีความน่าเชื่อถือ ลูกค้ามั่นใจ เลือกใช้บริการร้านคุณมากขึ้น ถ้าตามกฎหมาย หากมีธุรกิจของตนเอง และไม่ทำตามที่กฎหมายกำหนดจะมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท กรณีไม่จดทะเบียนต่อเนื่อง จะโดนปรับอีกวันละไม่เกิน 100 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย

ยกเว้นพวกหาบเร่ แผงลอยที่ขายอยู่ข้างรั้วหรือตามท้องถนน ไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ หรือถ้าคุณเป็นผู้ผลิตแล้วส่งไปยังร้านอื่น ๆ โดยที่ไม่มีหน้าร้านก็ไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อีกเช่นกัน แต่ถ้าอยากทำธุรกรรมอื่น ๆ เช่น กู้เงินธนาคาร จำเป็นต้องมีหน้าร้านและจดทะเบียนพาณิชย์ครับ

สรุปได้ว่า หากคุณมีตึก มีที่ของตนเอง และต้องการจะเปิดร้านอาหาร ร้านขายของชำ จะต้องยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และถ้าที่ดินตรงนั้นเป็นที่ดินของคุณเองจะมีการเรียกเก็บเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทน ซึ่งแต่เดิมเรียกเก็บเป็นภาษีโรงเรือน แต่ได้ยกเลิกไม่ให้มีการจัดเก็บตั้งแต่ปี 2563

สำหรับภาษีที่ดินทางองค์การบริหารส่วนตำบลจะส่งแบบประเมินพื้นที่ของที่ดินและพื้นที่สิ่งปลูกสร้างคูณตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ถ้าเป็นที่ดินที่เช่าของคนอื่น ภาษีที่ดินจะเป็นหน้าที่ของผู้ให้เช่า แต่ถ้าในสัญญาเช่าระบุว่า ผู้เช่าต้องเป็นผู้จ่ายภาษีที่ดินก็ต้องยึดตามสัญญาเช่า

ถ้าร้านอาหารของคุณมีการขึ้นป้ายชื่อร้านก็จะมีการเรียกเก็บภาษีป้ายเพิ่ม โดยภาษีป้ายจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาประเมินและตีราคาให้เราไปชำระเงิน สำหรับป้ายที่เป็นล้อเลื่อนหรือป้ายเมนูจะไม่มีการเสียภาษี

หากมีการขายสุราและบุหรี่ก็จะมีการเรียกเก็บภาษี ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับกรมสรรพสามิต โดยคุณต้องขออนุญาตจำหน่ายกรมสรรพสามิตก่อน ถ้าไม่ขออนุญาตแล้วเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตเข้ามาตรวจเจอ คุณจะถูกเรียกค่าปรับที่สูงมาก

สำหรับใครที่เปิดร้านอาหาร แนะนำว่าทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย กำไรที่ได้ต่อวันไว้ด้วย และควรยื่นแบบภาษีให้กับกรมสรรพากร เพราะถ้าคุณไม่แสดงตัวตนและทางกรมสรรพากรตรวจเจอ เข้ามาที่ร้านของคุณ เขาอาจประเมินราคาที่สูงกว่า ซึ่งคุณเองอาจจะเสียเปรียบได้ และคุณจะขัดแย้งกับเขาไม่ได้เลย เพราะเขาแจ้งตั้งแต่แรกแล้วว่าให้ยื่นแบบภาษี พร้อมรายรับ-รายจ่ายเอง

ส่วนใครที่เปิดร้านแล้วรายได้ไม่ดี ร้านต้องปิดตัวลง ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาไม่ต้องแจ้งการปิดกิจการ เพียงแต่สิ้นปียื่นแบบได้ตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ก่อนจะปิดกิจการ

ยื่นภาษี 2565 กับ 3 เรื่องที่เปลี่ยนไปจากเดิม

1.ลดการส่งเงินสมทบประกันสังคม

จากเดิมผู้มีรายได้ที่มีการจ่ายเงินสมทบเข้าไปในประกันสังคมทุก ๆ เดือน จะสามารถนำจำนวนเงินที่สมทบไม่เกิน 9,000 บาท ไปใช้ในการลดหย่อนภาษีได้

แต่ในปีนี้ ประกันสังคมมีนโยบายลดอัตราส่งเงินสมทบของกองทุนประกันสังคมทุกมาตรา ทำให้ผู้เสียภาษีนำเงินส่วนนี้ไปลดหย่อนภาษีได้น้อยลง

2.หักภาษี ณ ที่จ่าย

มีการลดอัตรา “หักภาษี ณ ที่จ่าย” ในปี 2564 จากเดิม 3% ลดลงเหลือ 1.5-2% สำหรับผู้มีประเภทเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา

3.ได้รับเงินเยียวยาจากมาตรการของรัฐ

สำหรับบุคคลธรรมดาที่ได้รับสิทธิ์โครงการคนละครึ่ง, โครงการเราชนะ, โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ไม่ต้องนำเงินส่วนนี้มายื่นภาษีและไม่ต้องเสียภาษี แต่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง, เราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งเป็นนิติบุคคลหรือร้านค้า หากรายได้ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดจะต้องเสียภาษี หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทุกแห่ง

บทความแนะนำ

Social Media เพื่อนแท้ร้านอาหาร

260,000แฟนคลับชอบ

บทความล่าสุด