ลูกจ้างได้เฮ ครม.ยอมให้จ่ายชดเชยค่าแรง 62% 3 เดือน ร้านอาหารก็ได้ด้วย
ร้านอาหารปิดกิจการชั่วคราวลูกจ้างได้รับสิทธิ์ชดเชยแรงงานในอัตรา 62% เป็นระยะเวลา 3 เดือน ส่งผลดีทั้งลูกจ้างและนายจ้าง
จากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลให้สถานประกอบการต่าง ๆ ต้องถูกสั่งให้หยุดกิจการซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดผลกระทบต่อทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้างตามมา ซึ่งทางรัฐบาลได้ทยอยออกมาตรการเยียวยา ช่วยเหลือฉุกเฉินตามมา เช่นมาตรการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีวางงานจากการถูกเลิกจ้างหรือถูกปิดกิจการโดยสำนักงานประกันสังคมที่ครม.ได้มีมติออกไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น
แต่ก็มีประเด็นข้อถกเถียงในกรณีของร้านอาหารที่ต้องหยุดกิจการในส่วนภายในร้าน แต่ยังเปิดให้บริการส่วนเดลิเวอรี พนักงานของร้านจะเข้าเงื่อนไขได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานหรือไม่ เนื่องจากร้านยังดำเนินกิจการอยู่ วันนี้ได้บทสรุปแล้วว่า กรณีของร้านอาหารที่ยังเปิดให้บริการเดลิเวอรี และให้พนักงานบางส่วนหยุดปฏิบัติงานชั่วคราวนั้น พนักงานสามารถขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนตามมาตารา 79/1 ในอัตรา 62% เป็นระยเวลา 3 เดือนได้เช่นกัน
เรื่องนี้ได้รับการเปิดเผย จาก คุณฐนิวรรณ กุลมงคล” นายกสมาคมภัตตาคารไทย ซึ่งเป็นหนึ่งบุคคลสำคัญทำหน้าที่เป็นผู้แทนผู้ประกอบการร้านอาหารนำปัญหาฝ่ายผู้ประกอบการและขอเสนอ แนวทางแก้ไข เยียวยา ช่วยเหลือต่าง ๆ ประสานกับหน่วยงานภาครัฐ
โดยนายกสมาคมภัตตาคารไทยกล่าวว่า มติครม.วันนี้ (31 มีนาคม 2563) ในส่วนของการปลดล็อกประกันสังคม 2 ข้อให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากหยุดกิจการได้รับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคม 62% ระยะเวลา 3 เดือน เป็นผลมาจากการได้นำปัญหาที่เกิดกับผู้ประกอบการร้านอาหารเข้าพูดคุยกับกระทรวงแรงงาน เพื่อให้รัฐมนตรีรับทราบสภาพความเป็นจริง เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าจ้างพนักงานของนายจ้าง และรวมถึงช่วยเหลือลูกจ้างที่มีจำนวนมากต้องหยุดงานไปโดยขาดรายได้ แต่พนักงานกลุ่มนี้ก็ก่ำกึ่งว่าจะเข้าเกณฑ์ได้สิทธิ์ชดเชยรายได้หรือไม่ เพราะร้านยังเปิดขายในส่วนเดลิเวอรีอยู่
เมื่อทางกระทรวงแรงงานได้รับทราบปัญหาดังกล่าวจึงได้ดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวงของ “กระทรวงแรงงาน” ข้อ 3 วรรค 1 และ วรรค 2 เพื่อปลดล็อก มาตารา 79/1 เรื่องการสั่งหยุดกิจการชั่วคราวที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 “ลูกจ้าง” จะได้รับสิทธิ์จากเงินประกันสังคม 62 % และนำเข้าสู่ที่ประชุมครม.ซึ่งก็ได้มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงแรงงานเสนอไป
โดยคุณฐนิวรณ์รณ นายกสมาคมภัตตาคารไทย ให้ความมั่นใจว่า มติครม.ดังกล่าวนี้จะครอบคลุมถึงพนักงานร้านอาหารในส่วนที่ต้องหยุดงานเนื่องจากทางร้านไม่สามารถเปิดดำเนินกิจการส่วนนั่งทานในร้านได้ด้วย โดยพนักงานสามารถไปยื่นของใช้สิทธิ์รับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคมในอัตรา 62% ของรายได้เป็นระยะเวลา 3 เดือน
โดยรายละเอียดของคำสั่งแก้ไขกฎกระทรวงของ “กระทรวงแรงงาน” ตามที่ ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 มี.ค.63 มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอขอทบทวนอัตราและระยะเวลาการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. …. ดังนี้
ข้อ 3 วรรคหนึ่ง “ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1
1.จากเดิม มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตรา 50 % ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานจากเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรองหรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 180 วัน (หนึ่งร้อยแปดสิบวัน)
แก้ไขใหม่เป็น “ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวัน
โดยให้ได้รับเงินค่าชดเชยตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรอง หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ทั้งนี้ไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) หรือ 3 เดือน”
-
ข้อ 3 วรรคสอง “กรณี “หน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการ” เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค
เดิมกำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 ในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่ง แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 60 วัน (หกสิบวัน)
เปลี่ยนใหม่เป็น “ในกรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการ” เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 ในอัตรา 62% (หกสิบสองเปอร์เซนต์) ของค่าจ้างรายวัน
โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งแต่ไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน)
นับว่า เป็นหนึ่งข่าวดีที่ช่วยเหลือได้ทั้งฝั่งนายจ้างและฝั่งลูกจ้าง ซึ่งรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนของผู้กิจการร้านอาหารนั้น เพื่อน ๆ สามารถติดตามได้จากการสัมภาษณ์สดคุณฐนิวรรณ กุลมงคล” นายกสมาคมภัตตาคารไทย ที่จะมาให้รายละเอียดในเรื่องนี้และประเด็นมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ ที่ทางสมาคมภัตตาคารไทยกำลังดำเนินการอยู่อย่างเร่งด่วน ในวันพุธที่ 1 เมษายน 2563 เวลา 11.30 น.โดยประมาณ ทางคลื่นวิทยุ FM 104.5 Travel Radio หรือ ทางเฟสบุ๊ก travelradiothailand
- Advertisement -